เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 1.จูฬหังสชาดก (533)
[69] ก็การมาสู่สำนักของพระองค์ผู้ทรงพระเจริญนี้
สุมุขวิหคนั่นแหละปรารถนาทรัพย์เพื่อนายพรานผู้นี้
ได้คิดแล้วเพื่อประโยชน์แก่เขา
(พระราชาตรัสว่า)
[70] ก็การมาของท่านผู้เจริญนี้เป็นการมาดีแล้วทีเดียว
และเราก็ยินดีเพราะได้เห็นท่าน
อนึ่ง แม้นายพรานนี้จะได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจจำนวนมาก
ตามที่ตนปรารถนา
(พระศาสดาเมื่อจะทรงเผยข้อความนั้น จึงตรัสว่า)
[71] พระราชาผู้เป็นอธิบดีแห่งมนุษย์
ทรงยังนายพรานให้อิ่มเอมใจด้วยโภคะทั้งหลายแล้ว
เมื่อจะตรัสวาจาอันระรื่นหู จึงตรัสกับพญาหงส์ว่า
[72] ได้ยินว่า อำนาจของเราผู้ทรงธรรม
ย่อมเป็นไปในที่มีประมาณเล็กน้อย
ความเป็นใหญ่ในที่ทั้งปวงจงมีแก่ท่าน
ขอท่านจงปกครองตามความปรารถนาเถิด
[73] อนึ่ง สิ่งอื่นใดย่อมเข้าไปสำเร็จเพื่อประโยชน์
แก่การต้านทานหรือเพื่อการเสวยราชสมบัติได้
สิ่งนั้นซึ่งเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจเราขอยกให้ท่าน
และขอสละอิสริยยศให้แก่ท่านด้วย
(พระราชาเมื่อจะทรงสนทนากับหงส์สุมุขะ จึงตรัสว่า)
[74] ก็ถ้าว่าหงส์สุมุขะผู้เป็นบัณฑิตถึงพร้อมด้วยปัญญานี้
จะพึงเจรจากับเราตามความปรารถนาบ้าง
ข้อนั้นจะพึงเป็นที่รักยิ่งแห่งเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :95 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [21.อสีตินิบาต] 1.จูฬหังสชาดก (533)
(หงส์สุมุขะกราบทูลว่า)
[75] ข้าแต่มหาราช นัยว่า
ข้าพระองค์เหมือนกับพญาช้างเข้าไประหว่างซอกหิน
ไม่อาจจะพูดสอดแทรกขึ้นได้ นั้นไม่ใช่วินัยของข้าพระองค์
[76] พญาหงส์นั้นเป็นผู้ประเสริฐกว่าข้าพระองค์ทั้งหลาย
ส่วนพระองค์ก็เป็นผู้สูงสุด เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
เป็นยอดแห่งมนุษย์ พระองค์ทั้ง 2
เป็นผู้อันข้าพระองค์พึงบูชาด้วยเหตุเป็นอันมาก
[77] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอธิบดีแห่งมนุษย์
เมื่อพระองค์ทั้ง 2 กำลังตรัสปราศรัยกันอยู่
เมื่อการวินิจฉัยกำลังเป็นไปอยู่ ข้าพระองค์ผู้เป็นคนรับใช้
จึงไม่ควรที่จะพูดสอดแทรกขึ้นในระหว่าง
(พระราชาสดับคำของหงส์สุมุขะแล้วดีพระทัย จึงตรัสว่า)
[78] ได้ยินว่า โดยธรรมดานายพรานกล่าวว่า
นกนี้เป็นบัณฑิต
ความจริง นัยเช่นนี้ไม่พึงมีแก่บุคคลผู้มิได้อบรมตนเลย
[79] บุคคลผู้มีปกติเลิศอย่างนี้ เป็นสัตว์อุดมอย่างนี้
เท่าที่เราเห็นมามีอยู่ แต่เราหาเห็นสัตว์อื่นเช่นนี้ไม่
[80] เรายินดีต่อท่านทั้ง 2 โดยปกติ
และยินดีด้วยการกล่าวถ้อยคำอันไพเราะของท่านทั้งสอง
อนึ่ง ความพอใจของเราอีกอย่างหนึ่ง
นั่นคือการที่เราพึงเห็นท่านทั้ง 2 เป็นเวลานาน
(พญาหงส์โพธิสัตว์เมื่อจะสรรเสริญพระราชา จึงกราบทูลว่า)
[81] กิจอันใดที่บุคคลพึงกระทำในมิตรผู้สูงศักดิ์
กิจอันนั้นพระองค์ทรงกระทำแล้วในข้าพระองค์ทั้ง 2
เพราะความภักดีต่อพระองค์ที่มีอยู่ในข้าพระองค์ทั้งหลาย
ข้าพระองค์จึงมีความภักดีต่อพระองค์โดยไม่ต้องสงสัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :96 }